วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

๑. ความเป็นมา




การละเล่นพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่นตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยมีมากมายแต่รูปแบบการแสดงแตกต่างกันไปตามสภาพของท้องถิ่น และวิถีชีวิตชาวบ้านในท้องถิ่น นั้น ๆ การละเล่นพื้นบ้านบางชนิด เน้นการแสดงเป็นเรื่องราว เช่น ละครชาตรี ละครนอก ลิเก โนรา บางชนิดแสดงในรูปแบบของระบำรำฟ้อน เช่น รำกลองยาว ฟ้อนเล็บ เซิ้งกระติ๊บ รองเง็ง บางชนิดแสดงเป็นรูปแบบของการเล่นเพลง เช่น ลำตัด หมอลำ เพลงบอกและบางชนิดแสดงออกทั้งการเล่นเพลงและท่ารำประกอบกัน เช่น เต้นกำรำเคียว เหย่อย รำโทน เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดจะมีรูปแบบการเล่นที่มีศิลปะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เล่นกันทั่วไปในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง รำโทนจะก่อกำเนิดขึ้นในยุคใดสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า เล่นสืบต่อกันมานานหลายชั่วคน ท่ารำของรำโทนเป็นการรำที่มีลักษณะเรียกว่า “รำใช้บท” หรือ “รำตีบท” ด้วยเหตุที่มีการร้อง และรำเข้ากับจังหวะเสียงโทน จึงเรียกว่า “รำโทน”
ลักษณะท่ารำของการรำโทน จะมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านคิดสร้างสรรค์เป็นศิลปะประจำท้องถิ่น มีรูปแบบท่าทาง ท่วงที ท่ารำตามบทเพลงในแต่ละเพลง ที่เล่นกันมาแต่โบราณ และนิยมเล่นกันแพร่หลายมากขึ้นตามรัฐนิยม อันเป็นนโยบายที่จะรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม
ความเป็นไทยในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รูปแบบของการรำโทนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หนุ่มสาวชาวบ้าน เมื่อเสร็จจากงานจะมีโอกาสชักชวนกันมาเล่นหาความสนุกสนานด้วยการรำโทน บริเวณลานบ้านตอนกลางคืน ซึ่งเป็นการละเล่นที่เรียบง่าย และเป็นที่นิยมของชาวบ้านภาคกลาง พอมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูล-สงคราม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในภาวะสงคราม ได้กำหนดให้มีการควบคุมการละเล่นเพื่อการรื่นเริง ครอบคลุมไปถึงการละเล่นพื้นบ้านของท้องถิ่นต้องขออนุญาตก่อนการแสดง แต่สนับสนุนให้มีการเล่นรำโทนแทน จึงทำให้การรำโทนแพร่หลายทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การเล่นรำโทน
ในช่วงนี้ ชาวบ้านจะให้ความสนใจนำเพลงไปร้องเล่นในหมู่ชาวบ้านอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนให้ทางราชการแต่งเพลงรำโทนเผยแพร่ไปในหมู่ทหาร ตำรวจ แล้วเผยแพร่ไปยังชาวบ้านทำให้เกิดผลดีต่อทางราชการในการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น การรำโทนในยุคนี้ เพลงที่ใช้จะมีเนื้อร้องที่มีลักษณะปลุกใจให้รักชาติ เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เชื่อผู้นำของชาติ และยังได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนานในการร้องรำ พร้อมกับเป็นการย้ำเตือน “รัฐนิยม” ไปด้วย
การรำโทนก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และช่วงเวลาสงครามโลก จะเป็นการรำโทนที่มีลักษณะเด่น มีการแสดงท่ารำเป็นรูปแบบการรำใช้บท จากการสังเกตและสัมภาษณ์เพื่อการหาข้อ
มูลการรำโทนพื้นบ้านเบื้องต้น พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านที่สืบทอดการรำโทนและยังรักษารูปแบบการรำโทนดั้งเดิมมีหลงเหลืออยู่ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะการแสดงของจังหวัดลพบุรี และยังคงเป็นเอกลักษณ์ อยู่ที่บ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมควรที่จะศึกษาและอนุรักษ์ไว้ และเป็นการสืบทอด เผยแพร่การรำโทนซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป

๑. ประวัติการก่อตั้งคณะ


การแสดงรำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้าน บ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอ-บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา ถึงแม้จะมีเล่นกันอยู่โดยทั่วไปในหลายอำเภอของจังหวัดลพบุรี แต่รูปแบบการเล่นอาจจะคล้ายคลึงกัน หรือแตกต่างกันไปบ้าง ก็จะเป็นไปตามกลุ่มการสร้างสรรค์งานของแต่ละท้องถิ่น โดยเกิดขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในสมัยนั้น ท่านได้ให้ลพบุรี มีการวางผังเมืองใหม่และตั้งหน่วยทหารขึ้นมาในเมืองลพบุรี ไม่ให้มีการแสดงลิเก และในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ ) บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ยามค่ำคืนจะมืดไปทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากรัฐบาลห้ามกระทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ห้ามจุดไฟ ห้ามชุมนุม ประชาชนเกิดความเหงา และเครียด ชาวบ้านที่ย้ายมาจากที่อื่น และเคยร้องเพลงรำโทน นำเพลงเหล่านี้มาร้อง และฝึกร้องกันเพื่อความสนุกสนาน ต่อมา นางตะเคียน เทียนศรี (เป็นมารดาของ นางทิม สำริดเปี่ยม) ได้รวมกลุ่มญาติพี่น้อง และฝึกหัดรำโทน และตั้งเป็นคณะ " แม่ตะเคียน เทียนศรี " ตั้งแต่นั้นมา เพลงรำโทนที่นางทิม สำริดเปี่ยม (ป้าทับทิม) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากมารดา เริ่มหัดร้องครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๓ ปี คือ เพลงนารีลอยหน้า


นางทิม สำริดเปี่ยม (ป้าทับทิม)

๒. ขนบความเชื่อเกี่ยวกับการแสดง

การแสดงรำโทนของชาวบ้านบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เดิมจะแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานตรุษสงกรานต์ งานบวชนาค งานแต่งงาน แสดงกันในบริเวณลานวัด บริเวณลานบ้าน บริเวณโรงเรียน และเป็นการพบปะกัน การเกี้ยวพาราสีกัน ระหว่างหนุ่มสาวหนุ่มสาวในหมู่บ้านและต่างถิ่น จะเริ่มแสดงในช่วงหัวค่ำจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น และแสดงภายใต้แสงเทียน เพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในสมัยก่อน ก่อนการแสดงจะมีการนำครกไม้ มาตั้งไว้ตรงกลาง เพื่อให้ผู้เล่นดนตรีได้นั่งแทนเก้าอี้ ผู้รำจะรำไปรอบ ๆ ฝ่ายชายจะเป็นผู้โค้งฝ่ายหญิง รำเป็นคู่ ๆ หลังจากการแสดงจบลงจะมีการร้องเพื่อลากลับทุกครั้ง
เพลงที่นำมาร้องสำหรับรำโทนนั้น จะมีเนื้อร้องที่ค่อนข้างสั้น จึงต้องร้องซ้ำ ๓ รอบ ใช้เวลาประมาณ ๓ นาที เนื้อหาในเนื้อเพลง ส่วนใหญ่บรรยาย เกี่ยวกับตัวละคร ในวรรณคดี สมัยก่อนมีประมาณ ๘๐ เพลง แต่ปัจจุบันเหลือประมาณ ๑๐ - ๑๒ เพลง ถ้าเพลงใดที่ผู้เล่นไม่ชอบก็มักจะไม่นำมาร้อง เพลงนั้นก็จะสูญหายไป คงอยู่แต่เพลงที่สนุกสนาน ไพเราะ และมีท่ารำที่ผู้แสดงพอใจเท่านั้น เพลงที่นำมาร้องใช้จำสืบทอดกันมา ไม่นิยมดัดแปลงจำมาอย่างไรก็ร้องกันต่อ ๆ ไปอย่างนั้น

๓. เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทนของบ้านแหลมฟ้าผ่า พบว่ามีเครื่องดนตรี ดังนี้




- ถังน้ำมันรถจิ๊บ ทำหน้าที่เป็นเครื่องประกอบจังหวะหน้าทับ (มีผู้คิดนำถังน้ำมันที่ติดท้ายรถจิ๊บ มาใช้ตีประกอบการแสดงแทนโทน เนื่องจากโทนดินเผาเกิดการแตกชำรุดเสียหายได้ง่าย จึงใช้ถังน้ำมันจิ๊บ มาจนถึงปัจจุบัน )








- รำมะนา ซึ่งมีรูปร่างคล้ายรำมะนาลำตัด หรือรำมะนาอีสาน นำมาใช้ตีแทนโทนเนื่องจากเป็นเครื่องดนตรี ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นซึ่งชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า เรียก ‘รำมะนา” ว่า “โทน” เนื่องจากนำมาใช้ตีประกอบการแสดงรำโทน จึงถือว่าเครื่องดนตรีดังกล่าว เป็นเครื่องดนตรีประจำท้องถิ่นของชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี



- ฉิ่ง ตีประกอบจังหวะย่อย-ใหญ่
( จังหวะเบา – หนัก )









- กรับ ตีประกอบจังหวะใหญ่
( จังหวะหนัก )








๒.๓.๑ ลักษณะของเครื่องดนตรี


- ถังน้ำมัน เป็นถังสำหรับบรรจุน้ำมัน รูปทรงสี่เหลี่ยม มีฝาอยู่ส่วนบนใช้ติดส่วนท้ายรถจิ๊บทหาร ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “ ถังน้ำมันจิ๊บ”
- รำมะนา ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ขนุน ไม้มะค่าโมง ขึ้นหน้ากลองด้วยหนังวัว ใช้หวาย- เชือกไนล่อนโยงเร่งเสียง ให้มีความดัง ตามที่ต้องการ โดยใช้ลิ่มไม้เป็นส่วนประกอบในการเร่งเสียง
- ฉิ่ง รูปร่างลักษณะเหมือนกับฉิ่งที่ใช้ในวงดนตรีไทยอยู่ทั่วไป
- กรับคู่ ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน , ไม้มะหาด

๒.๓.๒ การนำเครื่องดนตรีมาใช้บรรเลงประกอบการแสดง


- ถังน้ำมันรถจิ๊บ จากการสัมภาษณ์ ลุงเสงี่ยม เสือเพ็ชร นักดนตรี (๒๕๕๑, กันยายน ๑๓) ทำให้ทราบว่าแต่เดิมใช้โทนซึ่งทำด้วยดินเหนียว ปั้นเป็นรูปโทน แล้วตากแดดให้แห้งแล้วเผาใช้ผ้าใบ หรือหนังสัตว์ขึ้นเป็นหน้ากลอง นอกจากนี้ หากไม่มีอะไรเลย ก็จะใช้กระป๋องหรือตีปิ๊ป ให้เกิดจังหวะ ภายหลังจึงมีการนำถังน้ำมันแบบที่ติดท้ายรถจิ๊บตีแทนโทน ให้เสียงดัง และไพเราะกว่า รวมทั้งมีความทนทาน ในการนำมาตีประกอบการเล่นรำโทน ซึ่งโทนดินเผานั้นไม่คงทนเกิดการชำรุดเสียหายได้ง่าย ฉะนั้น การใช้โทน ตีประกอบการแสดงรำโทน จึงหมดความนิยมลง
- รำมะนา จากการสัมภาษณ์ นายสมจิตร เทียนศรี นักดนตรี และนักร้อง ทำให้ทราบว่าต่อมาภายหลังมีการนำรำมะนา มาตีแทนโทน แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมน้อยกว่าถังน้ำมัน เนื่องมาจากไม่คงทน และดูแลรักษายาก รวมทั้งคุณภาพเสียง ของรำมะนามีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ เช่น อากาศชื้น ทำให้หนังหน้ารำมะนาหย่อน เสียงที่ออกมาไม่เป็นไปตามต้องการ ผู้บรรเลงต้องคอยปรับแต่งเสียงอยู่ตลอด ซึ่งแตกต่างจากถังน้ำมันที่ให้คุณภาพเสียงดังกังวาน และสภาพดินฟ้าอากาศไม่ได้มีผลกระทบต่อคุณภาพเสียงของถังน้ำมันแต่อย่างใด
- ฉิ่ง ใช้เป็นเครื่องตีประกอบจังหวะซึ่งการแสดงรำโทนพบว่าการตีฉิ่งนั้น ใช้เพียงอัตราจังหวะเดียวเท่านั้น คือ จังหวะชั้นเดียว ฉะนั้นการแสดงรำโทนเป็นศิลปะการแสดงที่อยู่ในภาคกลาง ซึ่งฉิ่งได้ใช้เป็นเครื่องประกอบจังหวะดนตรีไทยอยู่โดยทั่วไปมาช้านานแล้ว
- กรับคู่ ใช้เป็นเครื่องตีประกอบจังหวะเช่นเดียวกับฉิ่ง โดยตีเป็นจังหวะหนัก

๒.๓.๓ วิธีการปฏิบัติเครื่องดนตรี

- ถังน้ำมัน ผู้บรรเลงนั่งท่าขัดสมาธิ แล้วนำถังน้ำมันวางบนฝ่าเท้าที่หงายขึ้นเล็กน้อย เหมือนกับใช้หนุนหรือรองถังไว้ เวลาตีต้องปิดฝาถังน้ำมันอย่าจับถังแน่น เพื่อให้ถังน้ำมันเกิดการสั่นสะเทือนเสียงจะดังกังวาน โดยส่วนกลางของถังน้ำมันเวลาตีจะมีเสียงดังกังวานฟังแล้วเป็นเสียง”พรึม” และถ้าตีที่ขอบถังจะดังเป็นเสียง”โจ๊ะ”
- รำมะนา ผู้บรรเลงนั่งท่าขัดสมาธิ นำกลองวางบนหน้าตักใช้มือตีลงบนส่วนกลางแบบเต็มมือ จะดังเป็นเสียง “ พรึม” และถ้าใช้ปลายฝ่ามือ ตีบริเวณขอบหน้ากลองจะมีเสียงดังเป็น “โจ๊ะ”
- ฉิ่ง ผู้บรรเลงนั่งท่าขัดสมาธิ มือซ้ายจับฝาล่างในลักษณะหงายขึ้นและมือขวาจับฝาบนของตัวฉิ่งในลักษณะคว่ำลงแล้วตีลงให้ขอบฉิ่งกระทบกันพร้อมทั้งเปิดมือที่จับฝาบนของฉิ่งให้ดังกังวานออกเป็น”ฉิ่ง “ และถ้าตีปิดฝาให้ประกบเท่ากันทั้งสองส่วนแล้วกดมือ ให้เกิดเสียงดัง “ฉับ”
- กรับ ผู้บรรเลงนั่งท่าขัดสมาธิ มือทั้งสองข้างจับกรับข้างละหนึ่งอัน ตีกระทบกัน ให้เกิดเป็นเสียง “กรับ”

๒.๓.๕ วงดนตรี


จำนวนผู้บรรเลงและผู้ขับร้อง ประกอบด้วย
๑. ผู้ตีถังน้ำมัน จำนวน ๑ คน (บางครั้งเปลี่ยนจากถังน้ำมัน มาใช้
รำมะนาแทน)
๒. ผู้บรรเลงฉิ่ง จำนวน ๑ คน
๓. ผู้บรรเลงกรับ จำนวน ๑ คน
๔. ผู้ขับร้อง ประกอบด้วย
- ฝ่ายชาย จำนวน ๒-๔ คน
- ฝ่ายหญิง จำนวน ๒-๔ คน
(ผู้บรรเลง นอกจากจะทำหน้าที่บรรเลงเครื่องประกอบจังหวะหน้าทับและเครื่องกำกับจังหวะแล้ว ทุกคนจะทำหน้าที่ร้องเพลงรำโทนไปด้วย ทุกเพลง )

แผนผังการตั้งวงดนตรี
( ด้านหลัง )
ถังน้ำมัน / รำมะนา ฉิ่ง กรับ
ผู้ขับร้อง ผู้ขับร้อง ผู้ขับร้อง ผู้ขับร้อง

( ด้านหน้า )

๒.๔ บทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง

จากการสอบถาม นางทิม สำริดเปี่ยม และคณะรำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า พบว่าเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงรำโทน ของชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง มีอยู่ประมาณ ๑๐๐ กว่าเพลง ซึ่งเป็นเพลงที่มีมาแต่ดั้งเดิมและเป็นเพลงที่แต่งเนื้อร้อง – ทำนองใหม่ ดังเช่น เพลงแปดนาฬิกา, เพลงชาติ ศาสนา, เพลงผู้นำของชาติ เพลงสาวน้อยเอวกลม, เพลงศิลปากร, เพลงลพบุรี, เพลงลักษณวงศ์แก้วตา, เพลงรุ้งงามกินน้ำอยู่เป็นวง, เพลงเดือนจ๋าเดือน และเพลงดึกเสียแล้วละหนา เป็นต้น
การแสดงรำโทน นั้น การร้องจะใช้การร้องหมู่ ฉะนั้น นอกจากผู้บรรเลง และผู้ขับร้องจะร้องเพลงรำโทนแล้ว ผู้แสดงทุกคน จะต้องร้องเพลงได้ทุกเพลง และ สามารถรับเนื้อเพลง ของผู้ที่เป็นพ่อเพลง แม่เพลงได้

๒.๔.๑ ประวัติความเป็นมาของเพลง

เพลงรำโทนที่นำมาร้องนั้นใช้วิธีจดจำสืบทอดกันมา ไม่นิยมดัดแปลงทั้งเนื้อร้องและท่ารำ คือ จำมาอย่างไรก็ร้อง และรำ อย่างนั้น บางครั้งการถ่ายทอดมาอาจได้มาเฉพาะเนื้อเพลงกรณีเช่นนี้ผู้เล่นจะคิดท่ารำประกอบเองตามความหมายของเนื้อเพลง การถ่ายทอด อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้ทั้งเนื้อเพลง และท่ารำจากการสำรวจพบว่าแม้นเป็นเพลงเดียวกัน หากคณะของผู้เล่นอยู่ต่างสถานที่ หรือต่างท้องถิ่นกัน ท่ารำ และ เนื้อเพลงก็อาจผิดแผกกันไปได้ แต่บางเพลงยังคงเหมือนกันทุกประการ อย่างไรก็ตาม เพลงทุกเพลง ไม่จำเป็นต้องได้จากการสืบทอดเสมอไป ผู้เล่นสามารถแต่งเนื้อร้อง และ ท่ารำ ขึ้นเป็นปัจจุบัน ในขณะเล่น ก็ได้เนื้อหา ในเพลงส่วนใหญ่ช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๘๔ จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับตัวละครในวรรณคดี เช่น ลักษณวงศ์ ไกรทอง รามเกียรติ์ ฯ ลฯ แต่ที่พบมากที่สุด ได้แก่ เพลงรัก หรือเพลงที่เกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เช่น ไหนเล่าดอกรัก เดือนจ๋า ฯลฯ เนื่องจากเพลงแต่ละเพลงยาวมาก ฉะนั้น การตั้งชื่อเพลง หรือเรียกชื่อเพลง ก็จะเรียกชื่อเพลง ตามวรรคแรกของเพลงเท่านั้น และในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาล ต้องการเชิดชูรำโทน ให้เป็นศิลปะประจำชาติ ได้มีการปรับปรุง แก้ไขรำโทนให้เป็นรำวง และพัฒนามาตามลำดับ จนเป็น รำวงมาตรฐาน เช่น ในปัจจุบันนอกจากนี้มีการแต่งเพลงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ เพลงประเภทปลุกใจ ถูกแต่งขึ้นเป็นจำนวนมาก และเพลงประเภทชักชวนให้เชื่อผู้นำ เช่น เพลงแปดนาฬิกา ไตรรงค์ธงชาติ เพลงประเภทสะท้อนภาพบ้านเมือง เช่น ลพบุรี ตื่นเถิดลุกเถิด หวอมาจะว่าอย่างไร เพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น สาวน้อยเอวกลม นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แสดงออกถึงความรัก การเกี้ยวพาราสี ระหว่างหนุ่มสาว อีกเป็นจำนวนมาก

เพลงรำโทนช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเป็นเพลงจากวรรณกรรม นิทานและเพลงเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว ชื่นชมธรรมชาติ ในยามค่ำคืน ดังเช่น





เพลง ลักษณวงศ์แก้วตา
ลักษณวงศ์แก้วตา หนีมารดา มาอยู่กลางไพร
เล่าเรียนวิชา อยู่กับพระเจ้าตาที่ศาลาใหญ่
โอ่เฮ้ โอละเห่ (ซ้ำ) เอาน้องนอนเปล พี่จะเป็นคนไกว
ลักษณวงศ์รูปงาม มาลงเล่นน้ำกับพราหมณ์เกสร
แอบซิตัวพี่จะแอบก่อน (ซ้ำ) ให้พราหมณ์เกสรเที่ยวได้เดินค้นหา
กู่น้องเสียงน้องไม่กู่รับ (ซ้ำ) พราหมณ์เกสรงามนัก เธอไม่กลับคืนมา



เพลง รุ้งงามกินน้ำอยู่เป็นวง
รุ้งงามกินน้ำอยู่เป็นวง อยู่เป็นวงตรงท้องนภา
พระอาทิตย์ฉายแสงลงมา (ซ้ำ) สว่างจ้า จากฟ้างามจริง
โน่นแน่ะดาวลอยเคล้าอยู่กับเดือน โน่นแน่ะเดือนลอยเกลื่อนนภา
ลมโชย โบยพัดสะบัดมา (ซ้ำ) หนาวอุราไม่รู้วาย
เออ เฮ้อ เอย ยามเมื่อเรารักกัน โย้น โย้น ทิง โย้น ทิง โย้น ทิง(ซ้ำ)




เพลงรำโทนช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
จะเป็นเพลงปลุกใจให้รักชาติ เชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เชื่อมั่นในตัวผู้นำ คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และในสมัยนั้นท่านให้มีการวางผังเมืองใหม่ และตั้งหน่วยทหารขึ้นมาในเมืองลพบุรี และบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม และเพลงที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่งตามรัฐนิยมของรัฐบาล คือสตรีจะนุ่งผ้าถุง หรือกระโปรงไว้ผมยาวและดัดยาว สวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น สวมหมวกทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การสวมหมวกของสตรีนั้น เป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญมาก เน้นว่าเป็นการนำชาติไปสู่อารยะธรรมถึงกับมีคำว่า “ มาลานำชาติไทย” ดังเช่น


เพลง แปดนาฬิกา
แปดนาฬิกา ได้เวลาชักธง
เราจะต้องยืนตรง เคารพธงของชาติไทย (ซ้ำ)
เราสนับสนุน ป.พิบูลสงคราม
เราจะต้องทำตาม ตามผู้นำของชาติไทย(ซ้ำ)


เพลง ชาติศาสนา
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ เทิดทูนเป็นที่บูชา
เทียมดวงใจไม่เสียดายชีวิต ชีวา ชาติ ศาสนา รักยิ่งชีวา ไว้เทิดทูน

เพลง ผู้นำของชาติ
เชื่อผู้นำของชาติ ประกาศทั้งชายและหญิง
สตรีเอาไว้ผมยาว ( ซ้ำ) ใส่หมวกรองเท้าให้ทันสมัย
นุ่งถุงกระตุ้งกระติ้ง(ซ้ำ) มันน่ารักจริงยอดหญิงชาวไทย(ซ้ำ)

เพลง สาวน้อยเอวกลม
สาวน้อยเอวกลม ไว้ผมดัดลอนดัดคลื่น
ใส่น้ำมันหอมรื่น สวมแต่หมวกใบลาน
แต่งตัวทันสมัย สาวไทยแบบหลวงพิบูล
หิ้วกระเป๋าจันทบูรณ์ (ช) แม่คุณจะไปไหนกัน
(ญ) ฉันจะไปดูโขน (ช) ฉันจะไปดูหนัง (ซ้ำ)
(ช) มาขึ้นรถราง (พร้อม) มาไปด้วยกัน

เพลง เดือนจ๋าเดือน
เดือนจ๋าเดือน สาวน้อยลอยเลื่อนเหมือนเดือนจากฟ้า
ยามเย็นไม่เห็นเธอมา ในอุราให้สะท้อน
ที่จริงเราต้องหยุดพัก มานั่งฝากรักกันเสียก่อน
สาวงามแม่อย่าอาวรณ์ (ซ้ำ) จะพาน้องจรเมื่อเที่ยงคืน

เพลง ศิลปากร
ศิลปากร ฉันไม่เคยฟ้อนมาทุกเช้าเย็น
ฉันรำไม่เป็น ฉันไม่เคยเห็นกรมศิลปากร
ท่านี้ใช่หรือไม่ใช่ (ซ้ำ) ฉันไม่เคยไปกรมศิลปากร



เพลง ลพบุรี
ลพบุรีเราเอ๋ย ไม่นึกเลย ว่าจะถูกโจมตี
สี่เครื่องยนต์ เขามาบินล้อม (ซ้ำ) ทิ้งลูกบอมลงหน้าสถานี
ก๊อกน้ำยังถูกทำลาย หัวรถไฟยังถูกปืนกล
สี่เครื่องยนต์ เขามายิงกราด (ซ้ำ) ยิงถูกตลาดหน้าห้องแถวลพบุรี
(ช) สาวน้อยอย่าเพิ่งหนี (ญ) หนุ่มน้อยอย่าเพิ่งหนี
ลพบุรียังไม่เป็นไร
เขามาข้างบนเขามาเรือบิน เราอยู่พื้นดิน เอา ป.ต.อ.เข้ามาตั้ง
ต่อสู้กันดูสักครั้ง(ซ้ำ) ป.ต.อ.เข้ามาตั้งหมายจะยิงเรือบิน



เพลง ดึกเสียแล้วละหนา
ดึกเสียแล้วละหนา ฉันขอลาไปก่อน
จำใจจะต้องจำจร อย่าอาวรณ์เร่าร้อนฤทัย
หากแม้นว่ามีความดี โอกาสมีมาสนุกกันใหม่
ขอวอน”องค์พระนารายณ์” จงให้มีความสุขเอย

๒.๔.๒ การบรรเลงและการขับร้อง


การบรรเลงและการขับร้องประกอบการแสดงรำโทน จะเริ่มต้นด้วยผู้บรรเลงและขับร้องนั่งด้านหน้าเวที ผู้แสดงออกมายืนในท่าที่พร้อมที่จะแสดง พ่อเพลง แม่เพลง จะร้องขึ้นต้นบทเพลงเพลงแรกลูกคู่ และผู้บรรเลงดนตรีจะตีรับผู้แสดงก็จะร้องพร้อมกับรำและตีบทไปตามเนื้อเพลงใช้ท่าทางที่เป็นธรรมชาติสื่อให้ผู้ชมได้เห็นอย่างชัดเจนเข้าใจง่าย โดยแต่ละเพลงจะร้องซ้ำหรือร้องทวน ๒ ถึง ๓ เที่ยว เมื่อจบแต่ละเพลงทั้งดนตรีและผู้ขับร้อง จะหยุดแล้วขึ้นบทเพลงใหม่ต่อไป ซึ่งในแต่ละเพลงก็จะปฏิบัติ เช่นเดียวกับขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น
เนื้อหาของบทเพลงจะเกี่ยวกับการปลุกใจให้รักชาติ สร้างขวัญและกำลังใจในยามศึกสงคราม เพราะสมัยนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ต่อมาจากการสัมภาษณ์ ชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า ได้มีการปรับปรุงให้มีบทไหว้ครูก่อนที่จะทำการแสดง นอกจากนั้น จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสี ของหนุ่มสาว เพื่อให้เกิดความรื่นเริง สนุกสนาน และจะจบสุดท้ายด้วยเพลงลาหรือเพลงจาก เช่น ดึกเสียแล้วละหนาฉันขอลาไปก่อน ต่อมาจากการสัมภาษณ์นางทิม สำริดเปี่ยม นักแสดง นักร้อง
ชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง ได้มีการปรับปรุงอีกครั้ง ให้มีบทไหว้ครูในลำดับแรกก่อนการแสดงตามด้วยบทเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนาง-เจ้าพระบรมราชินีนาถ ต่อจากนั้นก็ดำเนินการบรรเลงขับร้องตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น

๒.๔.๓ การแต่งกายของผู้บรรเลงและผู้ขับร้อง


การแต่งกายของผู้แสดงรำโทนของชาวบ้านตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จากการสังเกต มีการแต่งกายแยกออกเป็นดังนี้
- ชาย สวมเสื้อผ้าลายดอก หรือผ้าพื้นกางเกงขายาว ผ้าขาวม้าคาดเอว

- หญิง สวมเสื้อผ้าไทยแขนสั้น นุ่งผ้าถุงผ้าไทยพื้นบ้านพร้อมสไบเฉียง มีเครื่องประดับต่างหู สร้อยคอทองคำห้อยพระ ข้อมือ แหวนทองหรือเพชรที่ใช่เป็นของประจำตัวอยู่แล้ว

๒.๕ ลักษณะเฉพาะของการแสดงรำโทนบ้านแหลงฟ้าผ่า

ผู้รำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง การใช้ท่ารำ เป็นการรำใช้บท ท่ารำเป็นแบบฉบับของผู้รำในท้องถิ่นเองโดยผู้รำในท้องถิ่นเป็นผู้คิดท่ารำ และเลือกใช้ท่ารำให้เหมาะสมกับเพลง ท่ารำจะมีรูปแบบเป็นธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ หมายถึง การใช้ท่าทางแสดงสื่อความหมาย ประกอบกิริยาในการพูดคุย หรือการเคลื่อนไหวทั่ว ๆ ไป เช่น
๑) ท่าไหว้ เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนา หรือผู้มีพระคุณ ทำท่าพนมมือไว้ข้างศรีษะข้างใดข้างหนึ่ง
๒) ท่าเคารพธงชาติ เมื่อกล่าวถึงการทำความเคารพธงชาติ ชายทำท่าคำนับ หญิงทำท่าถอนสายบัว
๓) ท่าไว้มือ เมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือผู้สูงศักดิ์ ทำท่าไว้มือคือยกมือข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นเหนือศีรษะ ตะแคงมือ ปลายนิ้ชี้ไปข้างหน้า
๔) ท่าปฏิเสธ เมื่อกล่าวว่า “ไม่เคย ไม่รำ ไม่เห็น หรือไม่เสียดาย” ทำท่าตั้งมือทั้งสองข้างขึ้นข้างลำตัวข้างใดข้างหนึ่งระดับอก หันหน้าไปคนละทางกับมือที่ตั้งขึ้น แล้วส่วนหน้าเล็กน้อย
๕) ท่ารัก เมื่อกล่าวถึงความรัก ทำท่าประสานมือไว้ระดับอก หรือประสานมือแตะที่แขนจะทำท่าเท้าสะเอว
โดยใช้นิ้วชี้แตะที่สะโพก ส่วนชายทำท่าเท้าสะเอวตามปกติ



ท่ารำ ความรัก


ท่ารำ ปฏิเสธ

ท่ารำ ศาสนา

ท่ารำ เครื่องบินกำลังบิน


๒.๖ ระบบเศรษฐกิจและโอกาสที่เล่นรำโทน

การแสดงรำโทนของคณะแม่ตะเคียน เทียนศรี ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จะได้รับการว่าจ้างจากเอกชน สถานศึกษา และหน่วยงานราชการให้ไปแสดงในงานประเพณีและงาน
ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยได้รับค่าจ้างครั้งละประมาณ ๔,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ บาท บางครั้งก็ได้รับเชิญไปแสดงร่วมงาน เช่น งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ งานอนุรักษ์มรดกไทย งานของอำเภอบ้านหมี่ งานมหกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยเจ้าภาพจะออกค่ารถ ค่าอาหาร ให้กับทางคณะผู้แสดง

๒.๗ ความนิยมของประชาชน



ชาวบ้านตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จะมีการเล่นรำโทนในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ๑-๒ วัน โดยชาวบ้านผู้สูงอายุ และผู้แสดง นักร้อง นักดนตรีเองก็อายุมาก แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่นิยมเล่น เพราะจะหันไปนิยมเพลงลูกทุ่ง หรือรำวงสมัยใหม่ ก็จะคงเหลือแต่คนแก่ที่อยู่ในหมู่บ้านที่ยังจดจำการร้องรำโทนได้เท่านั้น

๒.๘ การฟื้นฟู และถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญา

รำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง ได้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟู โดยเริ่มจากผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการ วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี สภาวัฒนธรรม สถานศึกษา ที่เห็นความสำคัญของภูมิปัญญา ด้วยมีความคิดที่ว่า การละเล่นพื้นบ้านในท้องถิ่นอื่น ๆ ได้มีการฟื้นฟูเพื่อนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์ ประจำท้องถิ่น รำโทนของบ้านแหลมฟ้าผ่าซึ่งเคยรุ่งเรืองมาก่อนในอดีต ถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์ไว้
คณะแสดงรำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า ของแม่ตะเคียน เทียนศรี ได้ถ่ายทอดการแสดงรำโทนให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านหมี่วิทยา อำเภอบ้านหมี่ ในหลักสูตรท้องถิ่น และสอนการรำโทนให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดมหาสอน และหน่วยราชการทางด้านวัฒนธรรมซึ่งได้จัดอบรม การถ่ายทอดการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเชิญคณะรำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า เป็นวิทยากรให้แก่นักเรียนในจังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ ได้ถ่ายทอดให้กับลูกหลาน ในตระกูลของตนเอง

บทสรุป

วิเคราะห์คุณค่าของผลงาน ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์

รูปแบบของรำโทนพื้นบ้านของบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ เป็นการรำที่มีลักษณะเฉพาะ เรียกว่า “ร้องรำใช้บท” เป็นการรำโทนในสมัยก่อนสงครามโลก และช่วงสงครามโลกครั้งที่๒ ที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาด้านการแสดง รูปแบบการรำ ที่เป็นลักษณะเฉพาะ โดยจะเริ่มด้วยบทไหว้ครูในลำดับแรก และตามด้วยบทเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ต่อด้วยเพลงเชิญชวน เพลงเกี้ยวพาราสี เพลงลาไปรบ เพลงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในสงคราม จบช่วงนี้สมมุติว่าไปรบกกลับมาแล้วต่อด้วยเพลงชวนสาวไปเที่ยวเกี้ยวพาราสี สลับกับเพลงสนับสนุนรัฐบาลเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณกรรม เมื่อจบการเล่น จะส่งด้วยเพลงลา ดนตรีประกอบด้วย รำมะนา(ใช้ถังน้ำมัน) ฉิ่ง กรับ การแต่งกาย แต่งแบบไทยพื้นบ้านทั้งชายและหญิง การแสดงรำโทนที่บ้านแหลมฟ้าผ่า มีส่วนคล้ายกับรำโทนจังหวัดอ่างทอง คือ เครื่องดนตรีที่ใช้เหมือนกัน คือ โทน หรือถึงน้ำมันรถจิ๊บ ฉิ่ง และกรับ แต่เนื้อเพลงแตกต่างกันบ้าง ซึ่งในจังหวัดลพบุรี มีการแสดงรำโทน มี ๒ แบบ คือ แบบเป็นการแสดงพื้นบ้านโดยชาวบ้าน และแบบสมัยใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดจากนางทิม สำริดเปี่ยม ซึ่งแสดงโดยนักเรียน นักศึกษา ท่ารำได้รับการประยุกต์ โดยวิทยาลัยนาฏศิลป-ลพบุรี และการรำโทนก็ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรท้องถิ่นของจังหวัดลพบุรี

วิเคราะห์คุณค่าที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

รูปแบบของการรำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า ได้รับการสร้างสรรค์ แนวคิดโดยภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ในการคิดสร้างสรรค์ มีการจัดระบบลำดับขั้นตอนในการแสดง รวมทั้งลีลาความสามารถเฉพาะตัว เป็นการแสดงที่ชาวบ้านรวมตัวกันแสดงเพื่อความสนุกสนาน เพื่อสร้างความสามัคคี และเนื้อเพลงที่ใช้ขับร้องได้บอกเล่าความเป็นมาในอดีต คติสอนใจ ความรักชาติ วัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยก่อน เนื้อเพลงและท่วงทำนองมีความไพเราะ เรียบง่าย สร้างความภาคภูมิใจให้เยาวชนรุ่นหลังเมื่อได้ชมและรับฟังทำให้รำโทนบ้านแหลมฟ้าผ่า ได้รับการยอมรับเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ควรยกย่อง สนับสนุน อนุรักษ์ เผยแพร่ ให้คงอยู่ต่อไป
ปัจจุบันรำโทนพื้นบ้านของบ้านแหลมฟ้าผ่า ยังเล่นในโอกาสงานเทศกาลประจำปีของท้องถิ่น และได้รับเกียรติให้ไปแสดงสาธิตในงานสำคัญ ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดในนามของ รำโทนพื้นบ้านจังหวัดลพบุรี

ข้อมูลจาก

๑.สำนักงานวัฒธรรม จังหวัดลพบุรี

๒.อมรา กล้าเจริญ

๓.ป้าทับทิม สำริดเปี่ยม และคณะรำโทนพื้นบ้าน บ้านแหลมฟ้าผ่า

วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรื่องเล่า...มอญบางขันหมาก ต.บางขันหมาก อ.เมือง จ.ลพบุรี



บทนำ
“ชาวมอญ” เป็นชนเผ่ามองโกลอย์ (Mongoloid) ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน นักปราชญ์ทางภาษาศาสตร์ และทางมานุษยวิทยาได้จัดพวกมอญไว้ในภาษาตระกูลมอญ-เขมรหรือ บางทีก็เรียกว่า ตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austro-Asiatic) หมายถึง ภาษาเอเชียตะวันออก พวกมอญเรียกตนเองว่า “รมัน” (Reman) แล้วเพี้ยนมาเป็น “มอญ” และเรียกชื่อประเทศของตนเองว่า “รามัญประเทศ” ส่วนพม่ามักเรียกมอญว่า “ตะเลง” หลังจากที่อพยพออกจากประเทศจีนลงมาทางใต้ได้มาตั้งอาณาจักรขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดีในบริเวณพม่าตอนล่าง อาณาจักรมอญต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐๐ ปี ที่ตั้งอยู่ในพม่าตอนล่างเพราะศึกภายในและภายนอกซึ่งมีพม่าเป็นศัตรูสำคัญ ในระหว่างนั้น ชาวมอญได้พากันอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย และเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยมาช้านาน เป็นที่น่าสังเกตว่า สาเหตุของการอพยพส่วนใหญ่เนื่องมาจากความบีบคั้นทางการเมืองและความเดือดร้อนจากการกดขี่ของพม่า มากกว่าจะเป็น
ปัญหาด้านความแร้นแค้นในการทำมาหากิน หรืออัตราการเพิ่มของประชากร จึงเกิดความเบื่อหน่าย

๑. ชาวมอญบางขันหมาก

มอญบางขันหมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลพบุรี เมื่อใดไม่สามารถระบุได้เพราะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่อาศัยหรืออพยพมาที่เมืองลพบุรี แต่สันนิฐานว่าน่าจะอยู่ก่อนปีพุทธศักราช ๒๓๙๓ เพราะมีหลักฐานที่ปรากฏคือ การสร้างวัดโพธิ์ระหัตซึ่งเชื่อว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในวัดชุมชนมอญ บางขันหมาก ซึ่งสร้างวัดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๓ ซึ่งนาจะอพยพมาก่อนหน้านี้ แต่ชาวมอญบางขันหมากเองนั้น มีความเชื่อว่าตนอพยพต่อเนื่องมาจากที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี อยุธยา และจากที่อื่น ๆ เพราะมีรกรากและเครือญาติที่ยังสามารถติดต่อและสืบเชื้อสายกันอยู่
สำหรับชาวจังหวัดลพบุรี เมื่อพูดถึงมอญก็จะคิดถึงบ้านมอญบางขันหมากทันที เพราะเป็นชุมชนที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มากที่สุด ในตำบลบางขันหมาก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ หมู่ มีจำนวนประชากร ๙,๑๔๘ คน จะมีชาวมอญอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ ๖๐ และอยู่รวมกลุ่มในเขตหมู่ที่ ๑,๒,๓,๖,๗ และ ๙ ส่วนบ้านบางขันหมากเหนือจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวไทย เมื่อทางราชการยุบเขตหมู่บ้านทั้งสองรวมเป็นตำบลบางขันหมากคนในถิ่นอื่นจึงมักจะเข้าใจว่าเป็นที่อาศัยของชุมชนมอญ แต่ชาวบ้านในถิ่นนี้ยังนิยมเรียกชื่อหมู่บ้านตามแบบเก่า โดยถือเอาวัดสิงห์ทองเป็นเขตแบ่งพื้นที่ คือ ส่วนที่อยู่เหนือวัดไปตามลำน้ำลพบุรีเป็นเขตบางขันหมาก เหนือส่วนที่อยู่ทางใต้วัดเป็นเขตบางขันหมากใต้ ดังนั้นตำบลบางขันหมากจึงเป็นที่อยู่ของทั้งชาวมอญและชาวไทย
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอญบางขันหมาก มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม เป็นลักษณะชุมชนขนาดปานกลางที่หนาแน่นแออัด เป็นชุมชนแบบชนบทที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นญาติกันเป็นส่วนใหญ่ ภายในครอบครัวคนแก่ คนเฒ่าจะทำหน้าที่ดูแลบ้าน ส่วนคนหนุ่มสาวจะออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้า อาจจะไปทำนา ค้าขาย รับจ้างและอื่น ๆ จึงพบเห็นคนแก่คนเฒ่านั่งเล่นนอนเล่นอยู่ที่เตียงในบริเวณใต้ถุนบ้าน หรือไม่เลี้ยงหลานที่ยังเล็ก และยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ทำให้มีความใกล้ชิดกับลูกหลาน ในขณะเลี้ยงหลานคนแก่ คนเฒ่าก็จะถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมอญสู่ลูกหลานด้วย เช่น ภาษาพูด คติความคิด คติความเชื่อ อาหารการกิน ข้อห้ามต่าง ๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี

๒. การแต่งกาย



๑. ผู้ชาย นิยมสวมผ้านุ่ง เรียกว่า เกลิด ส่วนผ้าผืนยาวที่นุ่งเวลาออกงานสำคัญ เรียกว่า เกลิดฮะเหลิ่น แปลว่า ผ้านุ่งยาวหรือผ้าลอยชาย ส่วนเสื้อเป็นเสื้อคอกลมผ่าอกตลอด แขนกระบอกมีกระดุมผ้า หรือเชือกผูกเข้ากัน หรือเสื้อคอกลมสีสันแขนสั้น

๒. ผู้หญิง นิยมนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เรียกว่า นิ่น คล้ายผ้านุ่งของผู้ชาย แต่ลายของผู้หญิงละเอียด และสวยงามกว่า สวมเสื้อตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้น แค่เอวเล็กพอดีตัว สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรง กระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบางสีอ่อนมองเห็นเสื้อตัวใน หรือจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาวก็ได้หญิงมอญนิยมเกล้าผมมวยค่อนต่ำลงมาทางด้านหลัง
สิ่งสำคัญของคนมอญเมื่อเข้าวัด คือ มักคล้องผ้าสไบ เรียกว่า หยาดโด๊ด ใช้ได้ทั้งชายหญิง แต่โดยมากชายสูงอายุมักใช้ผ้าขาวม้า วิธีห่มคือ พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลังอ้อมใต้รักแร้ขวาแล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้ายหากไปงานรื่นเริงเที่ยวเล่นก็ใช้คล้องคอแทนหรือพาดลงมาตรง ๆ บนไหล่ซ้าย มอญบางขันหมากนิยมใช้สไบที่เป็นผ้าฝ้ายสีขาว หรือผ้าที่ถักด้วยไหมพรม และผ้าแพรจีนเนื้อละเอียด มีลายในตัวซึ่งมีการซื้อหาจากแหล่งร้านค้าในตลาด นิยมเรียกว่าผ้าแพรสีทอง โดยเฉพาะเวลาเข้าวัดร่วมในงานบุญต่าง ๆ มักพบสตรีผู้สูงอายุชาว มอญบางขันหมาก พาดผ้าสไบแทบทุกคน เพราะเชื่อกันว่า การคล้องผ้าสไบมีอานิสงส์ในการทำบุญเพิ่มขึ้น เมื่อไปวัดจะใช้สไบพาดเฉียงไหล่เวลากราบพระจะปล่อยชายข้างหนึ่งลงมารองกราบ


๓. ความเชื่อเรื่องผี ของชาวมอญ

ผีที่มอญนับถือมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญที่สุดมี ๒ ชนิด คือ
๑. ผีประจำหมู่บ้าน มักประดิษฐานไว้ในศาลที่ชายทุ่งและมีการทำพิธีบูชาเซ่นสรวงปีละครั้งโดยมี “คนทรง” เป็นผู้ประกอบพิธี ในพิธีจะมีการเข้าทรงทำนายความเป็นไปและความอุดมสมบูรณ์ของอนาคต หรือหญิงชายเมื่อแต่งงานกันแล้วจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาเพื่อเป็นการบอกกล่าว
๒. ผีบ้านหรือผีเรือน เป็นผีประจำตระกูล ซึ่งนับญาติเฉพาะทางฝ่ายชาย การรับผีจะตกทอดไปยังบุตรชายคนหัวปีของตระกูลเรื่อยไป ถ้าบิดาไม่มีบุตรชายหัวปี ผีนั้นก็ขาดจากสกุลวงศ์นั้นไป ดังนั้น ชาวมอญจึงให้ความสำคัญกับบุตรชายหัวปีมาก เพราะผู้ที่รับผีมีหน้าที่เก็บรักษาสมบัติประจำตัวผี
ซึ่งแตกต่างกันไปตามผีที่มอญแต่ละกลุ่มนับถือ หน้าที่ของผี คอยปกปักษ์รักษาสมาชิกในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าหากทำอะไรไม่ดี เกิดผิดผี จะส่งผลให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย

๔. ผีที่นิยมนับถือของชาวมอญบางขันหมาก

ผีที่ชาวมอญบางขันหมากนับถือคือ
ผีโรง หรือผีบรรพบุรุษ ผีประจำตระกูลจะอยู่ที่บ้านของผู้นำตระกูลที่มีอายุมากที่สุดในตระกูลเดียวกัน ตระกูลหนึ่งจะมีผีโรงตนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของผีปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่สมมุติเป็นสัญลักษณ์หรือแสดงว่าเป็นผีโรง คือ เครื่องผี ได้แก่ แหวน (แหวนทองหรือนากที่มีให้เป็นพลอยสีแดง) ผ้าผี (เสื้อ, ผ้านุ่ง, ผ้าโพกศรีษะ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของชาวมอญโบราณ) และกระบอกไม้ไผ่ จำนวน ๑๒ อัน ซึ่งภายในบรรจุใบหว้า กระบอกละ ๑๒ ใบ และมะพร้าว
ผีโรงหรือ ผีบรรพบุรุษเป็นผีที่สำคัญที่สุดที่ชาวมอญบางขันหมากนับถือแต่จะใช้เรียกสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นฝีโรง คือ
ผีมะพร้าว โดยเอามะพร้าวแห้งทั้งผลรวมทั้งหนวดติดมาด้วยผูกด้วยผ้าแดง และผ้าขาวแล้ว แขวนไว้ที่หัวเสาเอกของบ้าน
ผีกระบอกไม้ไผ่ ใช้กระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก ๑๒ กระบอก ใส่น้ำในกระบอกให้เต็ม เอาใบหว้าใส่ไว้ในกระบอก ๆ ละไม่ต่ำกว่า ๓-๕ ใบ แขวนไว้ที่เสาเอกของบ้าน
ผีผ้า ประกอบด้วยผ้านุ่งและเสื้อของผู้ชาย ผ้าถุงและเสื้อของผู้หญิง สไบสองผืนสีขาวและสีแดง แหวนพลอยแดง ๑ วง กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ลูกปัดรัดผม ปิ่น ซ่อมเสียบผม ใส่กระบุงหรือ ใส่หีบแขวนบูชาไว้ที่เสาเอก

๕. รูปผีมะพร้าว ,รูปผีกระบอกไม้, รูปผีผ้า

ผีผ้า


ผีมะพร้าว และ ผีกระบอกไม้ไผ่

๖. การนับถือผีของชาวมอญบางขันหมาก

ชาวมอญบางขันหมากนับถือผีโรง หรือผีบรรพบุรุษ ซึ่งในชุมชนมอญบางขันหมากมีนามสกุลที่จัดว่าเป็นชาวมอญทั้งหมด ๙๖ ตระกูล แต่ละตระกูลจะจัดให้มีการเลี้ยงผี ในช่วงเดือน ๖ ของไทยทุกปี จะจัดไม่ให้ตรงกับวันพระ การเลี้ยงผีของที่นี่มีต่างกัน ๓ แบบ
๑. ประเภทเลี้ยงผีทุกปี มีจำนวน ๘๒ ตระกูล จัดที่บ้าน จะมีเครื่องเซ่นไหว้
๒. ประเภทเลี้ยงผีสามปีครั้ง มีจำนวน ๗ ตระกูล แต่จะต้องมีการรำผีโรง
๓. ประเภทไม่เลี้ยงผี เนื่องจากไม่มีบุตรชายสืบทอด มีจำนวน ๗ ตระกูล

๗. การรำผีโรงของชาวมอญบางขันหมาก

การรำผี หมายถึง การร่ายรำที่มีการอัญเชิญวิญญาณให้มาเข้าประทับร่าง
การรำผีโรง หมายถึง การร่ายรำที่มีการอัญเชิญวิญญาณให้เข้ามาประทับร่าง และร่ายรำในปะรำพิธีที่ปลูกขึ้น ประเพณีการรำผีโรง จะมีการจัดทำขึ้นได้ก็เนื่องมาจากเหตุหลายปัจจัย เช่น การกระทำผิดกฏระเบียบของวงศ์ตระกูล การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในวงศ์ตระกูล เป็นต้น จนเกิดการบนบานสานกล่าวกับผีเรือนของตนเพื่อเป็นการขอขมา เพื่อให้หายจากโรค เพื่อให้อยู่ดีมีสุข เมื่อสมความปรารถนาที่กล่าวไว้ ก็จะจัดการรำผีโรงขึ้นในวันที่เลี้ยงผีของตระกูลตนเองในช่วงเดือนหก ต้องสร้างปะรำพิธีที่ทำด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยใบจากกลางลานบ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีปี่พาทย์เป็นเครื่องบรรเลงในการรำ มีเจ้าพิธีที่ต้องไปเชิญมาประกอบการรำผีซึ่งมอญเรียกว่า โต้ง การรำผีโรงจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันที่กำหนดจัดขึ้น โดยนำเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดไว้วางบนที่ตั้งที่ได้จัดเตรียมไว้ในปะรำพิธี จากนั้นผู้ทำพิธีจะตั้งขันครูและรำไหว้ครูในปะรำพิธี เครื่องที่ใช้ประกอบการรำมีมีดดาบ๒ เล่ม ไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ที่ปาดหัวท้ายสลับข้างกันให้แหลม ๒ อัน เหมือนไม้หาบฟ้อนข้าว ใบหว้ามัดเป็นกำ ๒ กำ เมื่อไหว้ครูในปะรำเสร็จแล้ว ผู้ทำพิธีพร้อมผู้ที่เป็นต้นผีหรือญาติพี่น้องจะขึ้นไปบนเรือนใหญ่ เพื่ออัญเชิญผีเรือนลงมาในปะรำพิธีที่ปลูกไว้ เมื่อลงมาในปะรำพิธีแล้วก็จะเริ่มประกอบพิธีโดยการรำนั้นจะรำเป็นขั้นตอนไปจนจบ การรำกว่าจะเสร็จก็ประมาณตอนเย็น ๆ หรือบางครั้งก็จะมืดเลยทีเดียว เนื่องจากขั้นตอนการรำมีมาก ทั้งนี้ในปะรำพิธีนั้นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คนละนามสกุล หรือไม่ใช่ญาติจะเข้าไปในปะรำพิธีไม่ได้ ยกเว้นไว้แต่เขา จะเชิญเข้าไปด้วยการนำหมากพลูมาให้จึงจะเข้าไปในปะรำพิธีได้ คนอื่น ๆ สามารถดูอยู่บริเวณรอบ ๆ ภายนอกปะรำพิธีได้เท่านั้นและการรำนั้นจะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว