วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

๒.๓.๒ การนำเครื่องดนตรีมาใช้บรรเลงประกอบการแสดง


- ถังน้ำมันรถจิ๊บ จากการสัมภาษณ์ ลุงเสงี่ยม เสือเพ็ชร นักดนตรี (๒๕๕๑, กันยายน ๑๓) ทำให้ทราบว่าแต่เดิมใช้โทนซึ่งทำด้วยดินเหนียว ปั้นเป็นรูปโทน แล้วตากแดดให้แห้งแล้วเผาใช้ผ้าใบ หรือหนังสัตว์ขึ้นเป็นหน้ากลอง นอกจากนี้ หากไม่มีอะไรเลย ก็จะใช้กระป๋องหรือตีปิ๊ป ให้เกิดจังหวะ ภายหลังจึงมีการนำถังน้ำมันแบบที่ติดท้ายรถจิ๊บตีแทนโทน ให้เสียงดัง และไพเราะกว่า รวมทั้งมีความทนทาน ในการนำมาตีประกอบการเล่นรำโทน ซึ่งโทนดินเผานั้นไม่คงทนเกิดการชำรุดเสียหายได้ง่าย ฉะนั้น การใช้โทน ตีประกอบการแสดงรำโทน จึงหมดความนิยมลง
- รำมะนา จากการสัมภาษณ์ นายสมจิตร เทียนศรี นักดนตรี และนักร้อง ทำให้ทราบว่าต่อมาภายหลังมีการนำรำมะนา มาตีแทนโทน แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมน้อยกว่าถังน้ำมัน เนื่องมาจากไม่คงทน และดูแลรักษายาก รวมทั้งคุณภาพเสียง ของรำมะนามีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ เช่น อากาศชื้น ทำให้หนังหน้ารำมะนาหย่อน เสียงที่ออกมาไม่เป็นไปตามต้องการ ผู้บรรเลงต้องคอยปรับแต่งเสียงอยู่ตลอด ซึ่งแตกต่างจากถังน้ำมันที่ให้คุณภาพเสียงดังกังวาน และสภาพดินฟ้าอากาศไม่ได้มีผลกระทบต่อคุณภาพเสียงของถังน้ำมันแต่อย่างใด
- ฉิ่ง ใช้เป็นเครื่องตีประกอบจังหวะซึ่งการแสดงรำโทนพบว่าการตีฉิ่งนั้น ใช้เพียงอัตราจังหวะเดียวเท่านั้น คือ จังหวะชั้นเดียว ฉะนั้นการแสดงรำโทนเป็นศิลปะการแสดงที่อยู่ในภาคกลาง ซึ่งฉิ่งได้ใช้เป็นเครื่องประกอบจังหวะดนตรีไทยอยู่โดยทั่วไปมาช้านานแล้ว
- กรับคู่ ใช้เป็นเครื่องตีประกอบจังหวะเช่นเดียวกับฉิ่ง โดยตีเป็นจังหวะหนัก

ไม่มีความคิดเห็น: