วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

๒. ขนบความเชื่อเกี่ยวกับการแสดง

การแสดงรำโทนของชาวบ้านบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เดิมจะแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานตรุษสงกรานต์ งานบวชนาค งานแต่งงาน แสดงกันในบริเวณลานวัด บริเวณลานบ้าน บริเวณโรงเรียน และเป็นการพบปะกัน การเกี้ยวพาราสีกัน ระหว่างหนุ่มสาวหนุ่มสาวในหมู่บ้านและต่างถิ่น จะเริ่มแสดงในช่วงหัวค่ำจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น และแสดงภายใต้แสงเทียน เพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในสมัยก่อน ก่อนการแสดงจะมีการนำครกไม้ มาตั้งไว้ตรงกลาง เพื่อให้ผู้เล่นดนตรีได้นั่งแทนเก้าอี้ ผู้รำจะรำไปรอบ ๆ ฝ่ายชายจะเป็นผู้โค้งฝ่ายหญิง รำเป็นคู่ ๆ หลังจากการแสดงจบลงจะมีการร้องเพื่อลากลับทุกครั้ง
เพลงที่นำมาร้องสำหรับรำโทนนั้น จะมีเนื้อร้องที่ค่อนข้างสั้น จึงต้องร้องซ้ำ ๓ รอบ ใช้เวลาประมาณ ๓ นาที เนื้อหาในเนื้อเพลง ส่วนใหญ่บรรยาย เกี่ยวกับตัวละคร ในวรรณคดี สมัยก่อนมีประมาณ ๘๐ เพลง แต่ปัจจุบันเหลือประมาณ ๑๐ - ๑๒ เพลง ถ้าเพลงใดที่ผู้เล่นไม่ชอบก็มักจะไม่นำมาร้อง เพลงนั้นก็จะสูญหายไป คงอยู่แต่เพลงที่สนุกสนาน ไพเราะ และมีท่ารำที่ผู้แสดงพอใจเท่านั้น เพลงที่นำมาร้องใช้จำสืบทอดกันมา ไม่นิยมดัดแปลงจำมาอย่างไรก็ร้องกันต่อ ๆ ไปอย่างนั้น

ไม่มีความคิดเห็น: