วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

๒.๔.๑ ประวัติความเป็นมาของเพลง

เพลงรำโทนที่นำมาร้องนั้นใช้วิธีจดจำสืบทอดกันมา ไม่นิยมดัดแปลงทั้งเนื้อร้องและท่ารำ คือ จำมาอย่างไรก็ร้อง และรำ อย่างนั้น บางครั้งการถ่ายทอดมาอาจได้มาเฉพาะเนื้อเพลงกรณีเช่นนี้ผู้เล่นจะคิดท่ารำประกอบเองตามความหมายของเนื้อเพลง การถ่ายทอด อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้ทั้งเนื้อเพลง และท่ารำจากการสำรวจพบว่าแม้นเป็นเพลงเดียวกัน หากคณะของผู้เล่นอยู่ต่างสถานที่ หรือต่างท้องถิ่นกัน ท่ารำ และ เนื้อเพลงก็อาจผิดแผกกันไปได้ แต่บางเพลงยังคงเหมือนกันทุกประการ อย่างไรก็ตาม เพลงทุกเพลง ไม่จำเป็นต้องได้จากการสืบทอดเสมอไป ผู้เล่นสามารถแต่งเนื้อร้อง และ ท่ารำ ขึ้นเป็นปัจจุบัน ในขณะเล่น ก็ได้เนื้อหา ในเพลงส่วนใหญ่ช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๘๔ จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับตัวละครในวรรณคดี เช่น ลักษณวงศ์ ไกรทอง รามเกียรติ์ ฯ ลฯ แต่ที่พบมากที่สุด ได้แก่ เพลงรัก หรือเพลงที่เกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เช่น ไหนเล่าดอกรัก เดือนจ๋า ฯลฯ เนื่องจากเพลงแต่ละเพลงยาวมาก ฉะนั้น การตั้งชื่อเพลง หรือเรียกชื่อเพลง ก็จะเรียกชื่อเพลง ตามวรรคแรกของเพลงเท่านั้น และในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาล ต้องการเชิดชูรำโทน ให้เป็นศิลปะประจำชาติ ได้มีการปรับปรุง แก้ไขรำโทนให้เป็นรำวง และพัฒนามาตามลำดับ จนเป็น รำวงมาตรฐาน เช่น ในปัจจุบันนอกจากนี้มีการแต่งเพลงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ เพลงประเภทปลุกใจ ถูกแต่งขึ้นเป็นจำนวนมาก และเพลงประเภทชักชวนให้เชื่อผู้นำ เช่น เพลงแปดนาฬิกา ไตรรงค์ธงชาติ เพลงประเภทสะท้อนภาพบ้านเมือง เช่น ลพบุรี ตื่นเถิดลุกเถิด หวอมาจะว่าอย่างไร เพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น สาวน้อยเอวกลม นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แสดงออกถึงความรัก การเกี้ยวพาราสี ระหว่างหนุ่มสาว อีกเป็นจำนวนมาก

เพลงรำโทนช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเป็นเพลงจากวรรณกรรม นิทานและเพลงเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว ชื่นชมธรรมชาติ ในยามค่ำคืน ดังเช่น





เพลง ลักษณวงศ์แก้วตา
ลักษณวงศ์แก้วตา หนีมารดา มาอยู่กลางไพร
เล่าเรียนวิชา อยู่กับพระเจ้าตาที่ศาลาใหญ่
โอ่เฮ้ โอละเห่ (ซ้ำ) เอาน้องนอนเปล พี่จะเป็นคนไกว
ลักษณวงศ์รูปงาม มาลงเล่นน้ำกับพราหมณ์เกสร
แอบซิตัวพี่จะแอบก่อน (ซ้ำ) ให้พราหมณ์เกสรเที่ยวได้เดินค้นหา
กู่น้องเสียงน้องไม่กู่รับ (ซ้ำ) พราหมณ์เกสรงามนัก เธอไม่กลับคืนมา



เพลง รุ้งงามกินน้ำอยู่เป็นวง
รุ้งงามกินน้ำอยู่เป็นวง อยู่เป็นวงตรงท้องนภา
พระอาทิตย์ฉายแสงลงมา (ซ้ำ) สว่างจ้า จากฟ้างามจริง
โน่นแน่ะดาวลอยเคล้าอยู่กับเดือน โน่นแน่ะเดือนลอยเกลื่อนนภา
ลมโชย โบยพัดสะบัดมา (ซ้ำ) หนาวอุราไม่รู้วาย
เออ เฮ้อ เอย ยามเมื่อเรารักกัน โย้น โย้น ทิง โย้น ทิง โย้น ทิง(ซ้ำ)




เพลงรำโทนช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
จะเป็นเพลงปลุกใจให้รักชาติ เชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เชื่อมั่นในตัวผู้นำ คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และในสมัยนั้นท่านให้มีการวางผังเมืองใหม่ และตั้งหน่วยทหารขึ้นมาในเมืองลพบุรี และบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม และเพลงที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่งตามรัฐนิยมของรัฐบาล คือสตรีจะนุ่งผ้าถุง หรือกระโปรงไว้ผมยาวและดัดยาว สวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น สวมหมวกทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การสวมหมวกของสตรีนั้น เป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญมาก เน้นว่าเป็นการนำชาติไปสู่อารยะธรรมถึงกับมีคำว่า “ มาลานำชาติไทย” ดังเช่น


เพลง แปดนาฬิกา
แปดนาฬิกา ได้เวลาชักธง
เราจะต้องยืนตรง เคารพธงของชาติไทย (ซ้ำ)
เราสนับสนุน ป.พิบูลสงคราม
เราจะต้องทำตาม ตามผู้นำของชาติไทย(ซ้ำ)


เพลง ชาติศาสนา
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ เทิดทูนเป็นที่บูชา
เทียมดวงใจไม่เสียดายชีวิต ชีวา ชาติ ศาสนา รักยิ่งชีวา ไว้เทิดทูน

เพลง ผู้นำของชาติ
เชื่อผู้นำของชาติ ประกาศทั้งชายและหญิง
สตรีเอาไว้ผมยาว ( ซ้ำ) ใส่หมวกรองเท้าให้ทันสมัย
นุ่งถุงกระตุ้งกระติ้ง(ซ้ำ) มันน่ารักจริงยอดหญิงชาวไทย(ซ้ำ)

เพลง สาวน้อยเอวกลม
สาวน้อยเอวกลม ไว้ผมดัดลอนดัดคลื่น
ใส่น้ำมันหอมรื่น สวมแต่หมวกใบลาน
แต่งตัวทันสมัย สาวไทยแบบหลวงพิบูล
หิ้วกระเป๋าจันทบูรณ์ (ช) แม่คุณจะไปไหนกัน
(ญ) ฉันจะไปดูโขน (ช) ฉันจะไปดูหนัง (ซ้ำ)
(ช) มาขึ้นรถราง (พร้อม) มาไปด้วยกัน

เพลง เดือนจ๋าเดือน
เดือนจ๋าเดือน สาวน้อยลอยเลื่อนเหมือนเดือนจากฟ้า
ยามเย็นไม่เห็นเธอมา ในอุราให้สะท้อน
ที่จริงเราต้องหยุดพัก มานั่งฝากรักกันเสียก่อน
สาวงามแม่อย่าอาวรณ์ (ซ้ำ) จะพาน้องจรเมื่อเที่ยงคืน

เพลง ศิลปากร
ศิลปากร ฉันไม่เคยฟ้อนมาทุกเช้าเย็น
ฉันรำไม่เป็น ฉันไม่เคยเห็นกรมศิลปากร
ท่านี้ใช่หรือไม่ใช่ (ซ้ำ) ฉันไม่เคยไปกรมศิลปากร



เพลง ลพบุรี
ลพบุรีเราเอ๋ย ไม่นึกเลย ว่าจะถูกโจมตี
สี่เครื่องยนต์ เขามาบินล้อม (ซ้ำ) ทิ้งลูกบอมลงหน้าสถานี
ก๊อกน้ำยังถูกทำลาย หัวรถไฟยังถูกปืนกล
สี่เครื่องยนต์ เขามายิงกราด (ซ้ำ) ยิงถูกตลาดหน้าห้องแถวลพบุรี
(ช) สาวน้อยอย่าเพิ่งหนี (ญ) หนุ่มน้อยอย่าเพิ่งหนี
ลพบุรียังไม่เป็นไร
เขามาข้างบนเขามาเรือบิน เราอยู่พื้นดิน เอา ป.ต.อ.เข้ามาตั้ง
ต่อสู้กันดูสักครั้ง(ซ้ำ) ป.ต.อ.เข้ามาตั้งหมายจะยิงเรือบิน



เพลง ดึกเสียแล้วละหนา
ดึกเสียแล้วละหนา ฉันขอลาไปก่อน
จำใจจะต้องจำจร อย่าอาวรณ์เร่าร้อนฤทัย
หากแม้นว่ามีความดี โอกาสมีมาสนุกกันใหม่
ขอวอน”องค์พระนารายณ์” จงให้มีความสุขเอย

ไม่มีความคิดเห็น: