วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

๒.๔.๒ การบรรเลงและการขับร้อง


การบรรเลงและการขับร้องประกอบการแสดงรำโทน จะเริ่มต้นด้วยผู้บรรเลงและขับร้องนั่งด้านหน้าเวที ผู้แสดงออกมายืนในท่าที่พร้อมที่จะแสดง พ่อเพลง แม่เพลง จะร้องขึ้นต้นบทเพลงเพลงแรกลูกคู่ และผู้บรรเลงดนตรีจะตีรับผู้แสดงก็จะร้องพร้อมกับรำและตีบทไปตามเนื้อเพลงใช้ท่าทางที่เป็นธรรมชาติสื่อให้ผู้ชมได้เห็นอย่างชัดเจนเข้าใจง่าย โดยแต่ละเพลงจะร้องซ้ำหรือร้องทวน ๒ ถึง ๓ เที่ยว เมื่อจบแต่ละเพลงทั้งดนตรีและผู้ขับร้อง จะหยุดแล้วขึ้นบทเพลงใหม่ต่อไป ซึ่งในแต่ละเพลงก็จะปฏิบัติ เช่นเดียวกับขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น
เนื้อหาของบทเพลงจะเกี่ยวกับการปลุกใจให้รักชาติ สร้างขวัญและกำลังใจในยามศึกสงคราม เพราะสมัยนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ต่อมาจากการสัมภาษณ์ ชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า ได้มีการปรับปรุงให้มีบทไหว้ครูก่อนที่จะทำการแสดง นอกจากนั้น จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสี ของหนุ่มสาว เพื่อให้เกิดความรื่นเริง สนุกสนาน และจะจบสุดท้ายด้วยเพลงลาหรือเพลงจาก เช่น ดึกเสียแล้วละหนาฉันขอลาไปก่อน ต่อมาจากการสัมภาษณ์นางทิม สำริดเปี่ยม นักแสดง นักร้อง
ชาวบ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง ได้มีการปรับปรุงอีกครั้ง ให้มีบทไหว้ครูในลำดับแรกก่อนการแสดงตามด้วยบทเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนาง-เจ้าพระบรมราชินีนาถ ต่อจากนั้นก็ดำเนินการบรรเลงขับร้องตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น: