การละเล่นพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่นตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยมีมากมายแต่รูปแบบการแสดงแตกต่างกันไปตามสภาพของท้องถิ่น และวิถีชีวิตชาวบ้านในท้องถิ่น นั้น ๆ การละเล่นพื้นบ้านบางชนิด เน้นการแสดงเป็นเรื่องราว เช่น ละครชาตรี ละครนอก ลิเก โนรา บางชนิดแสดงในรูปแบบของระบำรำฟ้อน เช่น รำกลองยาว ฟ้อนเล็บ เซิ้งกระติ๊บ รองเง็ง บางชนิดแสดงเป็นรูปแบบของการเล่นเพลง เช่น ลำตัด หมอลำ เพลงบอกและบางชนิดแสดงออกทั้งการเล่นเพลงและท่ารำประกอบกัน เช่น เต้นกำรำเคียว เหย่อย รำโทน เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดจะมีรูปแบบการเล่นที่มีศิลปะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เล่นกันทั่วไปในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง รำโทนจะก่อกำเนิดขึ้นในยุคใดสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า เล่นสืบต่อกันมานานหลายชั่วคน ท่ารำของรำโทนเป็นการรำที่มีลักษณะเรียกว่า “รำใช้บท” หรือ “รำตีบท” ด้วยเหตุที่มีการร้อง และรำเข้ากับจังหวะเสียงโทน จึงเรียกว่า “รำโทน”
ลักษณะท่ารำของการรำโทน จะมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านคิดสร้างสรรค์เป็นศิลปะประจำท้องถิ่น มีรูปแบบท่าทาง ท่วงที ท่ารำตามบทเพลงในแต่ละเพลง ที่เล่นกันมาแต่โบราณ และนิยมเล่นกันแพร่หลายมากขึ้นตามรัฐนิยม อันเป็นนโยบายที่จะรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม
ความเป็นไทยในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รูปแบบของการรำโทนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หนุ่มสาวชาวบ้าน เมื่อเสร็จจากงานจะมีโอกาสชักชวนกันมาเล่นหาความสนุกสนานด้วยการรำโทน บริเวณลานบ้านตอนกลางคืน ซึ่งเป็นการละเล่นที่เรียบง่าย และเป็นที่นิยมของชาวบ้านภาคกลาง พอมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูล-สงคราม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในภาวะสงคราม ได้กำหนดให้มีการควบคุมการละเล่นเพื่อการรื่นเริง ครอบคลุมไปถึงการละเล่นพื้นบ้านของท้องถิ่นต้องขออนุญาตก่อนการแสดง แต่สนับสนุนให้มีการเล่นรำโทนแทน จึงทำให้การรำโทนแพร่หลายทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การเล่นรำโทน
ในช่วงนี้ ชาวบ้านจะให้ความสนใจนำเพลงไปร้องเล่นในหมู่ชาวบ้านอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนให้ทางราชการแต่งเพลงรำโทนเผยแพร่ไปในหมู่ทหาร ตำรวจ แล้วเผยแพร่ไปยังชาวบ้านทำให้เกิดผลดีต่อทางราชการในการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น การรำโทนในยุคนี้ เพลงที่ใช้จะมีเนื้อร้องที่มีลักษณะปลุกใจให้รักชาติ เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เชื่อผู้นำของชาติ และยังได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนานในการร้องรำ พร้อมกับเป็นการย้ำเตือน “รัฐนิยม” ไปด้วย
การรำโทนก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และช่วงเวลาสงครามโลก จะเป็นการรำโทนที่มีลักษณะเด่น มีการแสดงท่ารำเป็นรูปแบบการรำใช้บท จากการสังเกตและสัมภาษณ์เพื่อการหาข้อ
มูลการรำโทนพื้นบ้านเบื้องต้น พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านที่สืบทอดการรำโทนและยังรักษารูปแบบการรำโทนดั้งเดิมมีหลงเหลืออยู่ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะการแสดงของจังหวัดลพบุรี และยังคงเป็นเอกลักษณ์ อยู่ที่บ้านแหลมฟ้าผ่า ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมควรที่จะศึกษาและอนุรักษ์ไว้ และเป็นการสืบทอด เผยแพร่การรำโทนซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น