วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

๗. การรำผีโรงของชาวมอญบางขันหมาก

การรำผี หมายถึง การร่ายรำที่มีการอัญเชิญวิญญาณให้มาเข้าประทับร่าง
การรำผีโรง หมายถึง การร่ายรำที่มีการอัญเชิญวิญญาณให้เข้ามาประทับร่าง และร่ายรำในปะรำพิธีที่ปลูกขึ้น ประเพณีการรำผีโรง จะมีการจัดทำขึ้นได้ก็เนื่องมาจากเหตุหลายปัจจัย เช่น การกระทำผิดกฏระเบียบของวงศ์ตระกูล การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในวงศ์ตระกูล เป็นต้น จนเกิดการบนบานสานกล่าวกับผีเรือนของตนเพื่อเป็นการขอขมา เพื่อให้หายจากโรค เพื่อให้อยู่ดีมีสุข เมื่อสมความปรารถนาที่กล่าวไว้ ก็จะจัดการรำผีโรงขึ้นในวันที่เลี้ยงผีของตระกูลตนเองในช่วงเดือนหก ต้องสร้างปะรำพิธีที่ทำด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยใบจากกลางลานบ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีปี่พาทย์เป็นเครื่องบรรเลงในการรำ มีเจ้าพิธีที่ต้องไปเชิญมาประกอบการรำผีซึ่งมอญเรียกว่า โต้ง การรำผีโรงจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันที่กำหนดจัดขึ้น โดยนำเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดไว้วางบนที่ตั้งที่ได้จัดเตรียมไว้ในปะรำพิธี จากนั้นผู้ทำพิธีจะตั้งขันครูและรำไหว้ครูในปะรำพิธี เครื่องที่ใช้ประกอบการรำมีมีดดาบ๒ เล่ม ไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ที่ปาดหัวท้ายสลับข้างกันให้แหลม ๒ อัน เหมือนไม้หาบฟ้อนข้าว ใบหว้ามัดเป็นกำ ๒ กำ เมื่อไหว้ครูในปะรำเสร็จแล้ว ผู้ทำพิธีพร้อมผู้ที่เป็นต้นผีหรือญาติพี่น้องจะขึ้นไปบนเรือนใหญ่ เพื่ออัญเชิญผีเรือนลงมาในปะรำพิธีที่ปลูกไว้ เมื่อลงมาในปะรำพิธีแล้วก็จะเริ่มประกอบพิธีโดยการรำนั้นจะรำเป็นขั้นตอนไปจนจบ การรำกว่าจะเสร็จก็ประมาณตอนเย็น ๆ หรือบางครั้งก็จะมืดเลยทีเดียว เนื่องจากขั้นตอนการรำมีมาก ทั้งนี้ในปะรำพิธีนั้นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คนละนามสกุล หรือไม่ใช่ญาติจะเข้าไปในปะรำพิธีไม่ได้ ยกเว้นไว้แต่เขา จะเชิญเข้าไปด้วยการนำหมากพลูมาให้จึงจะเข้าไปในปะรำพิธีได้ คนอื่น ๆ สามารถดูอยู่บริเวณรอบ ๆ ภายนอกปะรำพิธีได้เท่านั้นและการรำนั้นจะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว


ไม่มีความคิดเห็น: