วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

๑. ชาวมอญบางขันหมาก

มอญบางขันหมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลพบุรี เมื่อใดไม่สามารถระบุได้เพราะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่อาศัยหรืออพยพมาที่เมืองลพบุรี แต่สันนิฐานว่าน่าจะอยู่ก่อนปีพุทธศักราช ๒๓๙๓ เพราะมีหลักฐานที่ปรากฏคือ การสร้างวัดโพธิ์ระหัตซึ่งเชื่อว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในวัดชุมชนมอญ บางขันหมาก ซึ่งสร้างวัดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๓ ซึ่งนาจะอพยพมาก่อนหน้านี้ แต่ชาวมอญบางขันหมากเองนั้น มีความเชื่อว่าตนอพยพต่อเนื่องมาจากที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี อยุธยา และจากที่อื่น ๆ เพราะมีรกรากและเครือญาติที่ยังสามารถติดต่อและสืบเชื้อสายกันอยู่
สำหรับชาวจังหวัดลพบุรี เมื่อพูดถึงมอญก็จะคิดถึงบ้านมอญบางขันหมากทันที เพราะเป็นชุมชนที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มากที่สุด ในตำบลบางขันหมาก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ หมู่ มีจำนวนประชากร ๙,๑๔๘ คน จะมีชาวมอญอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ ๖๐ และอยู่รวมกลุ่มในเขตหมู่ที่ ๑,๒,๓,๖,๗ และ ๙ ส่วนบ้านบางขันหมากเหนือจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวไทย เมื่อทางราชการยุบเขตหมู่บ้านทั้งสองรวมเป็นตำบลบางขันหมากคนในถิ่นอื่นจึงมักจะเข้าใจว่าเป็นที่อาศัยของชุมชนมอญ แต่ชาวบ้านในถิ่นนี้ยังนิยมเรียกชื่อหมู่บ้านตามแบบเก่า โดยถือเอาวัดสิงห์ทองเป็นเขตแบ่งพื้นที่ คือ ส่วนที่อยู่เหนือวัดไปตามลำน้ำลพบุรีเป็นเขตบางขันหมาก เหนือส่วนที่อยู่ทางใต้วัดเป็นเขตบางขันหมากใต้ ดังนั้นตำบลบางขันหมากจึงเป็นที่อยู่ของทั้งชาวมอญและชาวไทย
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอญบางขันหมาก มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม เป็นลักษณะชุมชนขนาดปานกลางที่หนาแน่นแออัด เป็นชุมชนแบบชนบทที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นญาติกันเป็นส่วนใหญ่ ภายในครอบครัวคนแก่ คนเฒ่าจะทำหน้าที่ดูแลบ้าน ส่วนคนหนุ่มสาวจะออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้า อาจจะไปทำนา ค้าขาย รับจ้างและอื่น ๆ จึงพบเห็นคนแก่คนเฒ่านั่งเล่นนอนเล่นอยู่ที่เตียงในบริเวณใต้ถุนบ้าน หรือไม่เลี้ยงหลานที่ยังเล็ก และยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ทำให้มีความใกล้ชิดกับลูกหลาน ในขณะเลี้ยงหลานคนแก่ คนเฒ่าก็จะถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมอญสู่ลูกหลานด้วย เช่น ภาษาพูด คติความคิด คติความเชื่อ อาหารการกิน ข้อห้ามต่าง ๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี

1 ความคิดเห็น:

Sudtinee กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ