วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรื่องเล่า...มอญบางขันหมาก ต.บางขันหมาก อ.เมือง จ.ลพบุรี



บทนำ
“ชาวมอญ” เป็นชนเผ่ามองโกลอย์ (Mongoloid) ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน นักปราชญ์ทางภาษาศาสตร์ และทางมานุษยวิทยาได้จัดพวกมอญไว้ในภาษาตระกูลมอญ-เขมรหรือ บางทีก็เรียกว่า ตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austro-Asiatic) หมายถึง ภาษาเอเชียตะวันออก พวกมอญเรียกตนเองว่า “รมัน” (Reman) แล้วเพี้ยนมาเป็น “มอญ” และเรียกชื่อประเทศของตนเองว่า “รามัญประเทศ” ส่วนพม่ามักเรียกมอญว่า “ตะเลง” หลังจากที่อพยพออกจากประเทศจีนลงมาทางใต้ได้มาตั้งอาณาจักรขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดีในบริเวณพม่าตอนล่าง อาณาจักรมอญต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐๐ ปี ที่ตั้งอยู่ในพม่าตอนล่างเพราะศึกภายในและภายนอกซึ่งมีพม่าเป็นศัตรูสำคัญ ในระหว่างนั้น ชาวมอญได้พากันอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย และเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยมาช้านาน เป็นที่น่าสังเกตว่า สาเหตุของการอพยพส่วนใหญ่เนื่องมาจากความบีบคั้นทางการเมืองและความเดือดร้อนจากการกดขี่ของพม่า มากกว่าจะเป็น
ปัญหาด้านความแร้นแค้นในการทำมาหากิน หรืออัตราการเพิ่มของประชากร จึงเกิดความเบื่อหน่าย

๑. ชาวมอญบางขันหมาก

มอญบางขันหมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลพบุรี เมื่อใดไม่สามารถระบุได้เพราะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่อาศัยหรืออพยพมาที่เมืองลพบุรี แต่สันนิฐานว่าน่าจะอยู่ก่อนปีพุทธศักราช ๒๓๙๓ เพราะมีหลักฐานที่ปรากฏคือ การสร้างวัดโพธิ์ระหัตซึ่งเชื่อว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในวัดชุมชนมอญ บางขันหมาก ซึ่งสร้างวัดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๓ ซึ่งนาจะอพยพมาก่อนหน้านี้ แต่ชาวมอญบางขันหมากเองนั้น มีความเชื่อว่าตนอพยพต่อเนื่องมาจากที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี อยุธยา และจากที่อื่น ๆ เพราะมีรกรากและเครือญาติที่ยังสามารถติดต่อและสืบเชื้อสายกันอยู่
สำหรับชาวจังหวัดลพบุรี เมื่อพูดถึงมอญก็จะคิดถึงบ้านมอญบางขันหมากทันที เพราะเป็นชุมชนที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มากที่สุด ในตำบลบางขันหมาก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ หมู่ มีจำนวนประชากร ๙,๑๔๘ คน จะมีชาวมอญอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ ๖๐ และอยู่รวมกลุ่มในเขตหมู่ที่ ๑,๒,๓,๖,๗ และ ๙ ส่วนบ้านบางขันหมากเหนือจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวไทย เมื่อทางราชการยุบเขตหมู่บ้านทั้งสองรวมเป็นตำบลบางขันหมากคนในถิ่นอื่นจึงมักจะเข้าใจว่าเป็นที่อาศัยของชุมชนมอญ แต่ชาวบ้านในถิ่นนี้ยังนิยมเรียกชื่อหมู่บ้านตามแบบเก่า โดยถือเอาวัดสิงห์ทองเป็นเขตแบ่งพื้นที่ คือ ส่วนที่อยู่เหนือวัดไปตามลำน้ำลพบุรีเป็นเขตบางขันหมาก เหนือส่วนที่อยู่ทางใต้วัดเป็นเขตบางขันหมากใต้ ดังนั้นตำบลบางขันหมากจึงเป็นที่อยู่ของทั้งชาวมอญและชาวไทย
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอญบางขันหมาก มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม เป็นลักษณะชุมชนขนาดปานกลางที่หนาแน่นแออัด เป็นชุมชนแบบชนบทที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นญาติกันเป็นส่วนใหญ่ ภายในครอบครัวคนแก่ คนเฒ่าจะทำหน้าที่ดูแลบ้าน ส่วนคนหนุ่มสาวจะออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้า อาจจะไปทำนา ค้าขาย รับจ้างและอื่น ๆ จึงพบเห็นคนแก่คนเฒ่านั่งเล่นนอนเล่นอยู่ที่เตียงในบริเวณใต้ถุนบ้าน หรือไม่เลี้ยงหลานที่ยังเล็ก และยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ทำให้มีความใกล้ชิดกับลูกหลาน ในขณะเลี้ยงหลานคนแก่ คนเฒ่าก็จะถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมอญสู่ลูกหลานด้วย เช่น ภาษาพูด คติความคิด คติความเชื่อ อาหารการกิน ข้อห้ามต่าง ๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี

๒. การแต่งกาย



๑. ผู้ชาย นิยมสวมผ้านุ่ง เรียกว่า เกลิด ส่วนผ้าผืนยาวที่นุ่งเวลาออกงานสำคัญ เรียกว่า เกลิดฮะเหลิ่น แปลว่า ผ้านุ่งยาวหรือผ้าลอยชาย ส่วนเสื้อเป็นเสื้อคอกลมผ่าอกตลอด แขนกระบอกมีกระดุมผ้า หรือเชือกผูกเข้ากัน หรือเสื้อคอกลมสีสันแขนสั้น

๒. ผู้หญิง นิยมนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เรียกว่า นิ่น คล้ายผ้านุ่งของผู้ชาย แต่ลายของผู้หญิงละเอียด และสวยงามกว่า สวมเสื้อตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้น แค่เอวเล็กพอดีตัว สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรง กระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบางสีอ่อนมองเห็นเสื้อตัวใน หรือจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาวก็ได้หญิงมอญนิยมเกล้าผมมวยค่อนต่ำลงมาทางด้านหลัง
สิ่งสำคัญของคนมอญเมื่อเข้าวัด คือ มักคล้องผ้าสไบ เรียกว่า หยาดโด๊ด ใช้ได้ทั้งชายหญิง แต่โดยมากชายสูงอายุมักใช้ผ้าขาวม้า วิธีห่มคือ พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลังอ้อมใต้รักแร้ขวาแล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้ายหากไปงานรื่นเริงเที่ยวเล่นก็ใช้คล้องคอแทนหรือพาดลงมาตรง ๆ บนไหล่ซ้าย มอญบางขันหมากนิยมใช้สไบที่เป็นผ้าฝ้ายสีขาว หรือผ้าที่ถักด้วยไหมพรม และผ้าแพรจีนเนื้อละเอียด มีลายในตัวซึ่งมีการซื้อหาจากแหล่งร้านค้าในตลาด นิยมเรียกว่าผ้าแพรสีทอง โดยเฉพาะเวลาเข้าวัดร่วมในงานบุญต่าง ๆ มักพบสตรีผู้สูงอายุชาว มอญบางขันหมาก พาดผ้าสไบแทบทุกคน เพราะเชื่อกันว่า การคล้องผ้าสไบมีอานิสงส์ในการทำบุญเพิ่มขึ้น เมื่อไปวัดจะใช้สไบพาดเฉียงไหล่เวลากราบพระจะปล่อยชายข้างหนึ่งลงมารองกราบ


๓. ความเชื่อเรื่องผี ของชาวมอญ

ผีที่มอญนับถือมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญที่สุดมี ๒ ชนิด คือ
๑. ผีประจำหมู่บ้าน มักประดิษฐานไว้ในศาลที่ชายทุ่งและมีการทำพิธีบูชาเซ่นสรวงปีละครั้งโดยมี “คนทรง” เป็นผู้ประกอบพิธี ในพิธีจะมีการเข้าทรงทำนายความเป็นไปและความอุดมสมบูรณ์ของอนาคต หรือหญิงชายเมื่อแต่งงานกันแล้วจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาเพื่อเป็นการบอกกล่าว
๒. ผีบ้านหรือผีเรือน เป็นผีประจำตระกูล ซึ่งนับญาติเฉพาะทางฝ่ายชาย การรับผีจะตกทอดไปยังบุตรชายคนหัวปีของตระกูลเรื่อยไป ถ้าบิดาไม่มีบุตรชายหัวปี ผีนั้นก็ขาดจากสกุลวงศ์นั้นไป ดังนั้น ชาวมอญจึงให้ความสำคัญกับบุตรชายหัวปีมาก เพราะผู้ที่รับผีมีหน้าที่เก็บรักษาสมบัติประจำตัวผี
ซึ่งแตกต่างกันไปตามผีที่มอญแต่ละกลุ่มนับถือ หน้าที่ของผี คอยปกปักษ์รักษาสมาชิกในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าหากทำอะไรไม่ดี เกิดผิดผี จะส่งผลให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย

๔. ผีที่นิยมนับถือของชาวมอญบางขันหมาก

ผีที่ชาวมอญบางขันหมากนับถือคือ
ผีโรง หรือผีบรรพบุรุษ ผีประจำตระกูลจะอยู่ที่บ้านของผู้นำตระกูลที่มีอายุมากที่สุดในตระกูลเดียวกัน ตระกูลหนึ่งจะมีผีโรงตนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของผีปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่สมมุติเป็นสัญลักษณ์หรือแสดงว่าเป็นผีโรง คือ เครื่องผี ได้แก่ แหวน (แหวนทองหรือนากที่มีให้เป็นพลอยสีแดง) ผ้าผี (เสื้อ, ผ้านุ่ง, ผ้าโพกศรีษะ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของชาวมอญโบราณ) และกระบอกไม้ไผ่ จำนวน ๑๒ อัน ซึ่งภายในบรรจุใบหว้า กระบอกละ ๑๒ ใบ และมะพร้าว
ผีโรงหรือ ผีบรรพบุรุษเป็นผีที่สำคัญที่สุดที่ชาวมอญบางขันหมากนับถือแต่จะใช้เรียกสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นฝีโรง คือ
ผีมะพร้าว โดยเอามะพร้าวแห้งทั้งผลรวมทั้งหนวดติดมาด้วยผูกด้วยผ้าแดง และผ้าขาวแล้ว แขวนไว้ที่หัวเสาเอกของบ้าน
ผีกระบอกไม้ไผ่ ใช้กระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก ๑๒ กระบอก ใส่น้ำในกระบอกให้เต็ม เอาใบหว้าใส่ไว้ในกระบอก ๆ ละไม่ต่ำกว่า ๓-๕ ใบ แขวนไว้ที่เสาเอกของบ้าน
ผีผ้า ประกอบด้วยผ้านุ่งและเสื้อของผู้ชาย ผ้าถุงและเสื้อของผู้หญิง สไบสองผืนสีขาวและสีแดง แหวนพลอยแดง ๑ วง กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ลูกปัดรัดผม ปิ่น ซ่อมเสียบผม ใส่กระบุงหรือ ใส่หีบแขวนบูชาไว้ที่เสาเอก

๕. รูปผีมะพร้าว ,รูปผีกระบอกไม้, รูปผีผ้า

ผีผ้า


ผีมะพร้าว และ ผีกระบอกไม้ไผ่

๖. การนับถือผีของชาวมอญบางขันหมาก

ชาวมอญบางขันหมากนับถือผีโรง หรือผีบรรพบุรุษ ซึ่งในชุมชนมอญบางขันหมากมีนามสกุลที่จัดว่าเป็นชาวมอญทั้งหมด ๙๖ ตระกูล แต่ละตระกูลจะจัดให้มีการเลี้ยงผี ในช่วงเดือน ๖ ของไทยทุกปี จะจัดไม่ให้ตรงกับวันพระ การเลี้ยงผีของที่นี่มีต่างกัน ๓ แบบ
๑. ประเภทเลี้ยงผีทุกปี มีจำนวน ๘๒ ตระกูล จัดที่บ้าน จะมีเครื่องเซ่นไหว้
๒. ประเภทเลี้ยงผีสามปีครั้ง มีจำนวน ๗ ตระกูล แต่จะต้องมีการรำผีโรง
๓. ประเภทไม่เลี้ยงผี เนื่องจากไม่มีบุตรชายสืบทอด มีจำนวน ๗ ตระกูล

๗. การรำผีโรงของชาวมอญบางขันหมาก

การรำผี หมายถึง การร่ายรำที่มีการอัญเชิญวิญญาณให้มาเข้าประทับร่าง
การรำผีโรง หมายถึง การร่ายรำที่มีการอัญเชิญวิญญาณให้เข้ามาประทับร่าง และร่ายรำในปะรำพิธีที่ปลูกขึ้น ประเพณีการรำผีโรง จะมีการจัดทำขึ้นได้ก็เนื่องมาจากเหตุหลายปัจจัย เช่น การกระทำผิดกฏระเบียบของวงศ์ตระกูล การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในวงศ์ตระกูล เป็นต้น จนเกิดการบนบานสานกล่าวกับผีเรือนของตนเพื่อเป็นการขอขมา เพื่อให้หายจากโรค เพื่อให้อยู่ดีมีสุข เมื่อสมความปรารถนาที่กล่าวไว้ ก็จะจัดการรำผีโรงขึ้นในวันที่เลี้ยงผีของตระกูลตนเองในช่วงเดือนหก ต้องสร้างปะรำพิธีที่ทำด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยใบจากกลางลานบ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีปี่พาทย์เป็นเครื่องบรรเลงในการรำ มีเจ้าพิธีที่ต้องไปเชิญมาประกอบการรำผีซึ่งมอญเรียกว่า โต้ง การรำผีโรงจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันที่กำหนดจัดขึ้น โดยนำเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดไว้วางบนที่ตั้งที่ได้จัดเตรียมไว้ในปะรำพิธี จากนั้นผู้ทำพิธีจะตั้งขันครูและรำไหว้ครูในปะรำพิธี เครื่องที่ใช้ประกอบการรำมีมีดดาบ๒ เล่ม ไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ที่ปาดหัวท้ายสลับข้างกันให้แหลม ๒ อัน เหมือนไม้หาบฟ้อนข้าว ใบหว้ามัดเป็นกำ ๒ กำ เมื่อไหว้ครูในปะรำเสร็จแล้ว ผู้ทำพิธีพร้อมผู้ที่เป็นต้นผีหรือญาติพี่น้องจะขึ้นไปบนเรือนใหญ่ เพื่ออัญเชิญผีเรือนลงมาในปะรำพิธีที่ปลูกไว้ เมื่อลงมาในปะรำพิธีแล้วก็จะเริ่มประกอบพิธีโดยการรำนั้นจะรำเป็นขั้นตอนไปจนจบ การรำกว่าจะเสร็จก็ประมาณตอนเย็น ๆ หรือบางครั้งก็จะมืดเลยทีเดียว เนื่องจากขั้นตอนการรำมีมาก ทั้งนี้ในปะรำพิธีนั้นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คนละนามสกุล หรือไม่ใช่ญาติจะเข้าไปในปะรำพิธีไม่ได้ ยกเว้นไว้แต่เขา จะเชิญเข้าไปด้วยการนำหมากพลูมาให้จึงจะเข้าไปในปะรำพิธีได้ คนอื่น ๆ สามารถดูอยู่บริเวณรอบ ๆ ภายนอกปะรำพิธีได้เท่านั้นและการรำนั้นจะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว


๘. ภาพการรำผีโรง

๑๐. บทวิเคราะห์ของการเลี้ยงผี และรำผีโรง

๑. สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ เมื่อทำแล้วจะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
๒. สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมในด้านความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษของตนเอง เพราะชาวมอญเชื่อว่า ผี คือ บรรพบุรุษของตนเอง
๓. เป็นการสร้างความสัมพันธ์และสามัคคีในวงศ์ตระกูล เพราะว่าในการไหว้ผีสมาชิกในครอบครัวต้องมาร่วมกัน
๔. เป็นการจัดระเบียบสังคมผ่านความเชื่อเรื่องผี ถ้าทำความดีผีจะคอยปกปักษ์รักษา เป็นการส่งเสริมให้คนกระทำความดี มีคุณธรรมจริยธรรม
ส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข
๕. เมื่อทุกคนเคารพนับถือผีของกันและกัน ซึ่งเป็นการควบคุมพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบของความเหมาะสม ก็คือ การเคารพหลักการอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคง

๑๑. ตำนาน เรื่องเล่าการนับถือผีของมอญ

มีเศรษฐีผู้หนึ่ง มีภรรยา ๒ คน ต่อมาเมียหลวงฆ่าลูกของเมียน้อยตายเพราะความริษยา ทั้งสองคนนี้เมื่อตายไปแล้วก็อาฆาตจองเวรกันและกัน และกินลูกของอีกฝ่ายหนึ่งสลับกันไปแต่ละชาติ ในที่สุดฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นผี อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นมนุษย์และมี ลูกด้วย ฝ่ายผีนั้นไล่ตามอมนุษย์เพื่อจะกินลูกของมนุษย์ ฝ่ายมนุษย์หนีไปขอพึ่งพระพุทธองค์ขณะประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระพุทธองค์ทรงทราบถึงความเป็นไป จึงโปรด เทศนานางผีนั้นให้ได้เห็นโทษของการจองเวร นางมนุษย์กับนางผีจึงได้ระงับเวรต่อกัน ต่อมานางผีได้ไปอยู่กับนางมนุษย์ ได้ช่วยเหลือแนะนำนางมนุษย์ ให้ทำนาได้ผลดีจนบังเกิดโภคทรัพย์มั่งคั่ง และต่อมาชาวเมืองนับถือผีเช่นกัน จึงเป็นมูลเหตุแห่งการนับถือผีมาจนทุกวันนี้

๑๑. บทวิเคราะห์ตำนานการนับถือผีของชาวมอญ

ในสมัยก่อนระบบสังคมครอบครัว ค่านิยมการมีคู่ครองของผู้ชายที่มีฐานะ สามารถมีภรรยาได้หลายคน เพื่อที่จะมาช่วยกันทำมาหากิน ดูแลบ้านช่อง ทรัพย์สมบัติการให้ทายาทสืบสกุล และยังเป็นการเสริมสร้างบารมีให้กับตนเอง ดังเช่น เศรษฐีในตำนานสามารถมีภรรยาได้ ๒ คน
การที่ภรรยาหลวงฆ่าลูกภรรยาน้อย แสดงให้เห็นว่าจิตใจของผู้หญิงทุกคนก็ต้องการความรักจากผู้เป็นสามีแต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครมาแย่งความรักไปจากตนเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่มีความริษยา อาฆาต ต่อภรรยาน้อย และสามารถฆ่าลูกภรรยาน้อยได้โดยไม่เกรงกลัวต่อบาป เพราะความรักบดบังศีลธรรมอันดี ทำให้คนเราทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะกระทำความผิด เพื่อที่จะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ ถึงแม้ว่าจะต้องฆ่าชีวิตผู้อื่นก็ตาม และผู้ที่ถูกฆ่าก็ยังไม่มีการให้อภัยต่อกัน และผูกพยาบาทฆ่ากันไปทุกชาติ
ในสมัยก่อนยังมีความเชื่อในวัฏจักรของกฎแห่งกรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และยังให้ความสำคัญต่อศาสนา ให้ความเคารพพระสงฆ์เป็นอย่างสูง ดังเช่น นางผีเมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้นความอาฆาต มาตรร้ายที่ได้ก่อเวรกรรมกันมาหลายภพหลายชาติ ยังหยุดลงได้ มีการให้อภัย เลิกการจองเวรซึ่งกันและกัน ทำให้มนุษย์และผีสามารถช่วยเหลือเกื้อกูล ตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยนางผีได้แนะนำนางมนุษย์ทำนาได้ผลดี
จึงทำให้เกิดความเชื่อในจิตวิญญาณของผีที่จะช่วยส่งเสริมให้มนุษย์มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสุข มนุษย์ก็ตอบแทนผีด้วยการแสดงความเคารพและนับถือผี ควบคู่กับการนับถือพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

สรุป

ความเชื่อเรื่องผีของมอญ เป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง นอกเหนือจากภาษาที่แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของมอญ ซึ่งแตกต่างไปจากไทยในแง่ของรายละเอียดและการปฏิบัติ ประเพณีต่าง ๆ ของมอญส่วนใหญ่ยกเว้นประเพณีทางศาสนามักจะมีเรื่องของความเชื่อ และการนับถือผีปะปนอยู่ด้วย แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่เคยมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณมาก่อน แต่ก็ไม่ลบหลู่ต่างปฏิบัติตามที่คนโบราณสั่งสอนมา ซึ่งสาเหตุที่สำคัญนั้นก็คือ การที่เกรงว่าจะผิดผี ซึ่งชาวมอญส่วนใหญ่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความอัปมงคลเหล่านี้ เป็นสิ่งสะท้อนถึงความเชื่อเรื่องผีนี้ก็ยังคงอยู่ในสังคมชาวมอญมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน แม้ว่ามอญจะนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่ก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการนับถือผีเป็นพิเศษควบคู่กันไป




ที่มาของข้อมูล
๑.พระปัญญาวุฒิ วุฑฒิโก (รุมรามัญ) (วัดอัมพวัน)
๒.นางปัทมา ขำดี
๓.ชาวมอญตำบลบางขันหมาก

บทกลอน


วัฒนธรรม ล้ำค่าน่าหวงแหน
เป็นแบบแผนและแนวทางสร้างศักดิ์ศรี
บรรพชนสรรค์สร้างไว้อย่างดี

สมควรที่อนุรักษ์พิทักษ์ไว้







































































































































เช่น ไทยมอญบางขันหมากฝากไว้คิด

ทุกชีวิตงอกงามตามวิสัย
บรรพชนสรรค์สร้างไว้อย่างไร

นานแค่ไหนประเพณีไม่มีกลาย
ทั้งทรงผม เสื้อผ้า ภาษาพูด
ย่อมพิสูจน์ชาติพันธุ์สมมั่นหมาย
จึงไทยมอญบางขันหมาก ยากมลาย

สืบเชื้อสาย รามัญ นิรันดร์กาล
ยกตัวอย่างอ้างเอ่ยเฉลยถ้อย

ใช่พูดพล่อยเหลวไหลไร้แก่นสาร
เคยคบค้าสมาคมมานมนาน

ทั่วหมู่บ้านบางขันหมากหลากไทยมอญ
เรื่องความรักสามัคคีนี้เหนียวแน่น

เป็นปึกแผ่นยากที่ใครจะไถ่ถอน
ต้องดำรงชาติพันธุ์นิรันดร

คือคำสอนสิงสถิตจิตวิญญาณ
วัฒนธรรม ล่ำค่าน่าหวงแหน

เป็นแบบแผนและแนวทางสร้างรากฐาน
ทุกประเทศที่เจริญมาเนิ่นนาน

ล้วนสืบสาน วัฒนธรรม เป็นสำคัญ


ประยูร กั้นเขตต์ (ผู้ประพันธ์)
สถานีวิทยุกระจายเสียงจังหวัดทหารบกลพบุรี
มณฑลทหารบกที่ ๑๓